ไอซ์แลนด์อยู่ที่ไหน?
ตั้งอยู่บนเกาะในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ระหว่างกรีนแลนด์ นอร์เวย์ และสหราชอาณาจักร อยู่ไม่ไกลจากเส้นอาร์กติกเซอร์เคิล มี “เรคยาวิก (Reykjavik)” เป็นเมืองหลวงที่ตั้งอยู่ใกล้กับขั้วโลกเหนือมากที่สุด ไอซ์แลนด์มีประชากรประมาณ 350,000 กว่าคน มีพื้นที่ประเทศรวม 102,775 ตารางกิโลเมตร ถือว่าสัดส่วนของประชากรมีน้อยมาก มีขนาดเล็กกว่าประเทศไทยเกือบ 5 เท่า พื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นที่สูงมากกว่า 1 ใน 3 ของประเทศสูงจากระดับน้ำทะเลมากกว่า 600 เมตร แบ่งเป็น 62% ของพื้นที่ประเทศเป็นที่รกร้าง, มีเพียง 23% ที่พืชเจริญเติบโตได้ และอีก 11% เป็นธารน้ำแข็ง
ประเทศไอซ์แลนด์มีอุตสาหกรรมที่ส่งออกอยู่ 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ
1. การทำประมง : ทะเลมีความอุดมสมบูรณ์มาก จึงสามารถทำให้มีการส่งออกปลาถือเป็น 34% ของมูลค่าการส่งออก
2. ธุรกิจพลังงาน : เนื่องจากเป็นประเทศที่มีน้ำล้อมรอบ และมีภูเขาไฟมากกว่า 130 แห่ง จึงสามารถทำให้ผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ และความร้อนใต้พิภพ จึงทำให้มีพลังงานกระแสไฟฟ้าใช้ได้อย่างเหลือเฟือ
3. ธุรกิจอะลูมิเนียม เนื่องจากประชากรน้อย พลังงานไฟฟ้ามีเกินเหลือใช้จึงทำให้เกิดอุตสาหกรรมนี้ขึ้นมา
อ้างอิงข้อมูลจาก : ลงทุนแมน
1. เที่ยว “ไอซ์แลนด์” ขอวีซ่าที่ไหน ?
จงจำให้ขึ้นใจ!! ประเทศไอซ์แลนด์ไม่มีสถานทูตประจำในประเทศไทย ถ้าไป “ไอซ์แลนด์” ต้องยื่นขอวีซ่าผ่าน “ประเทศเดนมาร์ก” เท่านั้น โดยมี VFS เป็นศูนย์รับเรื่องการในยื่นเอกสาร
2. การเดินทางไปไอซ์แลนด์
เนื่องจากไม่มีสายการบินใดที่มีบริการเที่ยวบินตรงไปลงที่ไอซ์แลนด์เลย เราจึงต้องเลือกแวะเปลี่ยนเครื่องบินที่เมืองใดเมืองหนึ่งของประเทศยุโรปก่อนบินไป Reykjavik ประเทศไอซ์แลนด์ เช่น Copenhagen (โคเปนเฮเกน)
เมืองหลวงของไอซ์แลนด์ คือ “เรคยาวิก” มีสนามบิน 2 แห่ง คือ สนามบินนานาชาติ Keflavik International Airport (KEF) ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองเรคยาวิกไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 50 กิโลเมตร และสนามบินภายในประเทศ Reykjavik Domestic Airport (RKV)
3. เที่ยวไอซ์แลนด์… ช่วงไหนดีหล่ะ?
สภาพอากาศที่ไอซ์แลนด์จะเปลี่ยนแปลงบ่อย รวดเร็วมาก คาดการณ์ไม่ค่อยได้ว่าใน 1 วันจะเจอะอะไรบ้าง เช่น เช้าฝนตก บ่ายครึ้มๆ แล้วหิมะก็ตกหนัก หรือวันไหนเช้าแดดออก อยู่ดีๆฟ้าก็ครื้มแล้วหิมะก็ตกทันที ดังนั้นควรเตรียมพร้อมเรื่องของเสื้อผ้า อุปกรณ์กันหนาว และสติในการขับรถ
รู้ไว้ไม่พลาด!! การล่าแสงเหนือ หรือ Aurora ที่ไอซ์แลนด์จะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น
- แสงเหนือจะเห็นได้เฉพาะเวลากลางคืน และชัดในฤดูหนาว เนื่องจากไม่มีแสงสว่างจากดวงอาทิตย์มากวน แต่ฤดูหนาวอากาศก็เปลี่ยนแปลงเร็ว จึงต้องคอยเช็คสภาพอากาศบ่อยๆ
- บริเวณที่เราเห็นแสงเหนือนั้น ช่วงกลางคืนฟ้าต้องไม่มีเมฆปกคลุม ไม่มีฝนตก ไม่มีหิมะ ยิ่งห่างจากตัวเมือง และไม่มีแสงรบกวนเท่าไหร่ยิ่งดี (ง่ายๆ คือ ยิ่งมืดยิ่งดี)
- ระดับค่าวัดความเข้มข้นของแสงเหนือ (KP index) เรียกย่อๆ ว่า “ค่า KP” ซึ่งเราจะวัดค่า KP ตามระดับความเข้นข้นของแสง Aurora ซึ่งจะเริ่มค่า KP ตั้งแต่ระดับ 0-9 (0-1 คือ ไม่มีโอกาสเห็นเลย และ 9 คือแสงเข้มข้นมากที่สุด) ต้องให้ค่า KP นี้สูงตั้งแต่ระดับ KP3 ขึ้นไปจึงสามารถมองเห็น ซึ่งยิ่งค่า KP สูงมากขึ้นก็ยิ่งเห็นชัดขึ้น แต่ต้องมาพร้อมกับปัจจัยที่ท้องฟ้าเปิดโล่ง ปริมาณเมฆบนท้องฟ้าน้อยๆ โดยเราต้องคอย “ตรวจสอบพยากรณ์แสงเหนือ” บ่อยๆ
- ยิ่งบริเวณนั้นมีสีเขียวเข้มในพื้นที่เยอะๆ แปลว่าเมฆยิ่งเยอะ โดยเราดูการพยากรณ์อากาศเป็นรายชั่วโมงได้ ซึ่งถ้าภายใน 1-3 ชั่วโมงก่อนล่วงหน้า ถือว่าค่อนข้างแม่นยำมาก
- ระดับ KP 3 เห็นแสงเหนือด้วยตาเปล่าเหมือนแถบสีเทาๆ กำลังเคลื่อนไหวอยู่บนท้องฟ้าเท่านั้น กรณีนี้ต้องถ่ายด้วยกล้อง DSLR พร้อมขาตั้ง
- ระดับ KP 5 เป็นอะไรที่น่าตื่นเต้นมากๆ คือเห็นแสงเหนือทั้งสีม่วง สีเหลือง สีน้ำเงินเต้นระบำไปทั่วท้องฟ้า กรณีนี้ถ่ายด้วยมือถือก็เห็นแสงเหนือเช่นกัน
จริงๆ ไอซ์แลนด์เที่ยวได้ตลอด มี 4 ฤดู แต่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่นิยมเที่ยว 2 ฤดูคือ
- ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่ พย. – มีค. อุณหภูมิอยู่ในช่วง -5 ถึง 5 °C กลางคืนยาว ช่วงเดือน กพ.-มีค. และ กย. – ตค. จะเหมาะกับการล่าแสงเหนือ แต่ก็ไม่ง่ายที่จะเห็นได้อย่างชัดๆ เพราะจะขึ้นอยู่กับโชค ความโปร่งของท้องฟ้า เมฆ สภาพอากาศ และปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบนดวงอาทิตย์มากเพียงพอ
- ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่ มิย. – สค. ถือว่าเป็นช่วง High season กลางวันยาว อุณหภูมิประมาณ 10-15 °C เดือน กค. จะร้อนที่สุดอุณหภูมิอยู่ที่ 11 °C จะเป็นช่วงที่จะเห็นพระอาทิตย์เที่ยงคืนซึ่งมักจะเกิดทางตอนเหนือของไอซ์แลนด์ เพราะอยู่ห่างจากจุด Arctic Circle เพียงไม่กี่กิโลเมตร
Credit : https://www.holiday-weather.com/reykjavik/averages/
Tip : ไอซ์แลนด์ไม่มีฤดูฝน แต่เดือนกันยายน และมีนาคมจะเป็นเดือนที่ฝนตกบ่อยที่สุด
4. การเดินทางในประเทศ เรื่องใหญ่!!
หากเดินทางหลายคน ท่านสามารถเที่ยวรอบเกาะไอซ์แลนด์ โดยเช่ารถขับกันเอง เพื่อมีเวลานั่งเสพย์วิวตอนทานอาหารกลางวันกับวิวอลังการทั้งภูเขาน้ำแข็ง ภูเขาสวยๆ น้ำตก ทะเลสาบ ทุ่งหญ้า น้องม้า น้องแกะตลอดทาง
บริษัท Blue Car Rental เป็นบริษัทท้องถิ่นของไอซ์แลนด์ ท่านอาจขับรถย้อนเข็มนาฬิกา คือ ขับลงใต้ วนขึ้นตะวันออก ขึ้นเหนือ แล้วมาจบที่เมือง Reykjavik เพื่อแช่ Blue Lagoon ก่อนกลับได้เช่นกัน
- ยกตัวอย่าง เลือกรถแบบ 4WD ของ BMW X1 เกียร์ออโต้
- นั่งได้ 4 คน มี 5 ประตู ท้ายรถใส่กระเป๋าเดินทางขนาด 28″-30″ ได้ 3 ใบ
- กรณีระบุชื่อคนขับ 1 คน ราคาค่าเช่ารถ 12 วันตลอดทริป รวมซื้อประกันภัย Full Coverage ทุกสิ่งอย่างประมาณ 54,000 บาท ราคาค่าน้ำมันประมาณ 9,000 บาท สรุปตกค่าเช่ารวมค่าน้ำมันตกวันละ 5,250 บาท
- กรณีระบุชื่อคนขับ 2 คน ราคาค่าเช่ารถจะสูงขึ้นประมาณ 2,500 บาท/คัน
ดังนั้นมาเตรียมเอกสารทำ “ใบขับขี่สากล” กันก่อน (ใบขับขี่สากลจะมีอายุการใช้งาน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ออกบัตร)
- พาสปอร์ตตัวจริง และสำเนา 1 ใบ
- ใบขับขี่ตัวจริง และสำเนา 1 ใบ
- บัตรประจำตัวประชาชน และสำเนา 1 ใบ
- รูปถ่าย 2 นิ้ว 2 ใบ ถ่ายไม่เกิน 6 เดือน ฉากสีขาวหรือสีฟ้า (หน้าตรง ไม่สวมหมวก หรือแว่นตาสีเข้ม)
- ค่าธรรมเนียม 505 บาท/คน
- กรณีที่ไม่สะดวกไปทำใบขับขี่ด้วยตัวเอง สามารถให้คนอื่นไปจัดการแทนโดยเตรียมเอกสารเพิ่ม 3 อย่าง คือ สำเนาบัตรประชาชนของผู้รับ-ผู้มอบอำนาจ พร้อมเซ็นต์รับรองสำเนาถูกต้อง และใบมอบอำนาจพร้อมติดอากรแสตมป์ 10 บาท
ข้อมูลเพิ่มเติม
ติดต่อ : กรมการขนส่งทางบก
เปิด : วันจันทร์ ถึง วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.30 ถึง 15.30 น.
Tip : แนะนำว่าอย่าไปยื่นเรื่องวันจันทร์ เพราะคนจะเยอะ หมวยไปวันพฤหัสช่วงบ่าย 2 ใช้เวลาครึ่งชม. ก็เสร็จข้อควรรู้การขับรถที่ไอซ์แลนด์
- เมื่อออกจากสนามบินก็สามารถติดต่อบริษัทเช่ารถที่สนามบินนานาชาติ Keflavik International Airport (KEF) ได้เลย
- การขับรถที่ไอซ์แลนด์ง่ายมาก แค่เปิด Google Map ก็หาได้ทุกอย่างทั้งปั๊มน้ำมัน ซุปเปอร์มาร์เก็ต สถานที่ท่องเที่ยว และที่พัก ซึ่งหมวยแนะนำอีก 2 เว็ปไซต์ให้เปิดดูควบคู่กัน คือ ตรวจสอบสภาพเส้นถนน และ ตรวจสอบสภาพอากาศและคำเตือน ซึ่งจะมีการอัพเดทการเตือนถนนเส้นที่ปิด ถนนที่อันตรายจากหิมะถล่ม หรือภูเขาไฟ
- ให้เช่ารถแบบขับเคลื่อน 4 ล้อเพื่อใช้กำลังของเครื่องยนต์ และเพื่อความปลอดภัยในการขับขี่กับสภาวะต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น
- การขับรถจะเป็นพวงมาลัยซ้าย ชิดขวา ต้องเปิดไฟหน้า ตรวจสอบลมยางให้ดี
- น้ำมันดีเซล ราคาลิตรละประมาณ 50 บาท สามารถเติมน้ำมันเองได้ที่ N1, Olís & ÓB, Costco มีทั้งแบบเป็นปั้มน้ำมันพร้อมมี Minimart และแบบ Stand Alone เป็นตู้หัวจ่ายน้ำมัน ชำระเงินได้ทั้งบัตรเติมเงิน (Prepaid Gas Card) และบัตรเครดิต (แผนที่ Gas Station ในไอซ์แลนด์)
- จงขับรถช้าๆ เมื่อหิมะตก ลมพัดแรง ถนนจะยิ่งลื่นมาก และบางทีจะมองไม่เห็นถนนด้านหน้า น้ำแข็งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
- ไม่มีด่านเก็บเงินค่าทางด่วนเหมือนบ้านเรานะ ดังนั้นพอออกจากทางด่วนแล้วรีบให้ชำระเงินออนไลน์ผ่านบัตรเครดิต ดังนั้นก่อนเข้าทางด่วนควรสังเกตป้ายด้านหน้าให้ดีๆ เช่น ตอนที่เราขับเข้าอุโมงค์ Vaðlaheiði tunnel ไปเมือง Akureyri หลังจากที่ผ่านแล้วถ้าชำระเงินภายใน 3 ชั่วโมง จะเสียค่าทางด่วน 1,500 ISK (ประมาณ 400 บาท) แต่ถ้าเกิน 3 ชั่วโมงจะเสียค่าทางด่วน 2,500 ISK
- ขับในเมืองให้ลดความเร็วตามป้ายจราจรประมาณ 80 กม./ชม. จะมีกล้องตรวจจับความเร็ว มีวางอยู่ในหลายๆจุด และค่าปรับก็แพงมาก พอออกนอกเมือง Reykjavik ก็ขับได้เร็วขึ้นประมาณ 90 กม./ชม. เป็นถนน 2 เลน รถไม่ค่อยมีวิ่ง ตั้งโหมด Cruise control ขับได้ยาวๆ
- เมื่อเปิดประตูรถควรประคองประตูด้วย เพราะลมที่นี่พัดแรงสุดๆ อาจทำให้ประตูรถเสียหาย ซึ่งไม่รวมในประกันภัยรถยนต์
- แนะนำให้ใช้เป็นถนน Ring Road หรือ Highway No. 1 เป็นถนนเส้นทางหลักวงแหวนวิ่งรอบเกาะ
- หมายเลขฉุกเฉินของไอซ์แลนด์คือ 112 โทรได้ฟรีจากโทรศัพท์ทุกเครือข่าย
5. เรื่องแลกเงินเรื่องใหญ่… ตั้งใจฟังนะ
แนะนำให้แลกเงิน EURO จากเมืองไทยแล้วไปแลกเงินสกุล (Icelandic Krona: โครนาไอซ์แลนด์) ตัวย่อ “ISK” ที่สนามบินไอซ์แลนด์ Keflavík International Airport
วิธีแปลงค่าเงิน Krona เป็นเงินบาท ถ้าเอาง่ายๆ เอาเงินสกุลโครนาหารด้วย 4 ก็ตกเป็นเงินบาท แต่จริงๆ แล้วประเทศแถบสแกนดิเนเวียนเป็นสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) จะชำระอะไรด้วยบัตรเครดิตก็ได้ทั้งนั้น เช่น เติมน้ำมัน ค่าทางด่วน ที่พัก ซื้อของในซุปเปอร์มาร์เก็ต ขนม ไอศกรีม น้ำ กาแฟ ที่จอดรถ ดังนั้นแนะนำแลกเงินให้เพียงพอสำหรับซื้อของกระจุกกระจิก หรือเข้าห้องน้ำก็พอ
6. ที่พักเอาไงดีหล่ะ?
ที่พักส่วนใหญ่จะเหมือน Airbnb หรือ Apartment ตกแต่งตามสไตล์ IKEA เป๊ะ!! ซึ่งข้าวของเครื่องใช้จะมีให้ไม่เหมือนกัน
- ก่อนเข้าพักแนะนำให้อ่านคู่มือ และทำความเข้าใจแต่ละที่พักด้วย เช่น ข้อห้าม ข้อควรระวัง ห้ามย่างบาร์บีคิวช่วงหน้าหนาว หรือห้ามเปิดประตูทิ้งไว้ บางที่ต้องแยกขยะตามแต่ละประเภท เช่น ขวด ขยะเปียก ขยะแห้ง บางที่จะให้นำถุงขยะในบ้านไปทิ้งถังขยะหน้าบ้านก่อน check-out ด้วย
- ถ้าเป็นที่พักนอกเมือง จะมีบริการให้จอดได้สบายๆ แต่ถ้าในเมือง Reykjavik ก็จอดรถได้ตามสองทางข้างถนน หรือที่จอดรถที่เสียเงินค่าจอด
- มีอุปกรณ์ทำครัว เช่น เครื่องครัว, จาน, ช้อน, มีด, เตาไฟฟ้า, กาต้มน้ำร้อน, ไมโครเวฟ, เครื่องล้างจาน และ Hood ดูดควัน… เราก็เปิดครัวไทยทำอาหารทานกันเองได้เลย
- เครื่องปรุง เช่น น้ำมัน, เกลือ, พริกไทย
- อุปกรณ์ซักล้าง เช่น เครื่องซักผ้า, ราวตากผ้า และผงซักฟอก
- เครื่องทำน้ำอุ่น ฮีตเตอร์ และของใช้ในห้องน้ำ เช่น สบู่ แชมพู ไดร์เป่าผม
- เครื่องดื่ม หรือของทานเล่น เช่น กาแฟ โกโก้ ขนมเครกเกอร์
- Free Wifi ซึ่งบ้านพักบางที่ก็สัญญาณแรงดีเว่อร์ บางทีก็อาจจะเอื่อยๆหน่อย
- หลายที่นำ Sofa bed มาเป็นที่เตียงนอนเพื่อเพิ่มจำนวนคนด้วย
7. เที่ยวไอซ์แลนด์…ค่าครองชีพแพงไหม?
ถ้าทานอาหารนอกบ้าน เช่น ที่ร้านอาหาร Pakkhús Restaurant ที่ Höfn ถือว่าเป็นร้านแนะนำจาก Tripadvisor ได้ 4.5 ดาว เราเลยไปจัดล็อปสเตอร์ ซุป เสต็กเนื้อ ราคาตกมื้อละ 2,xxx- 3,xxx บาท/คนแต่ถ้าอยากทำทานเอง ก็สามารถซื้อของได้ที่ Supermarket และ Minimart เช่น พวกอาหารสด สเต็กเนื้อ สเต็กไก่ กุ้ง ปีกไก่ ไข่ไก่ เครื่องปรุง วัตถุดิบทำอาหาร น้ำผลไม้ และน้ำดื่ม ทุกอย่างราคาไม่แพง ดังนั้นการทำอาหารทานเองจะทำให้ค่าใช้จ่ายถูกลงได้เยอะ เช่น ไข่ไก่ราคาฟองละ 10 บาท, น้ำอัดลมขวดละ 40 บาท, น้ำดื่มขวดละ 30 บาท โดยรวมราคาค่าครองชีพของที่นี่ถูกกว่า Copenhagen เยอะมากกก (น้ำอัดลมที่ Copenhagen ขวดละ 100 บาท)
TIp : ระหว่างทางที่ขับรถมาในช่วงกลางวัน บางทีจะหาร้านอาหารทานยาก เพราะบางทีเป็นย่านไม่มีผู้คนเลย แนะนำให้แพ็คอาหารกลางวันไปทานระหว่างทานด้วย ถ้ายิ่งไปจอดรถบริเวณที่วิวสวยๆ แล้วยิ่งทำให้อาหารมื้อนั้นอร่อยขึ้น
8. หาเสบียงที่ไหนดี?
“ซุปเปอร์มาร์เก็ต” คือสวรรค์ของพวกเรา ของมีให้เลือกเยอะ ครบทุกอย่าง ราคาไม่แพง เช่น Krónan, Netto, Bónus, Kjörbúðin มีทั้งของอุปโภค บริโภค วัตถุดิบ อุปกรณ์ในการปรุงอาหาร ของฝาก ขนมขบเคี้ยวที่ทานในรถ ช็อกโกแลต น้ำผลไม้
9. ลิสต์ของที่ต้องเตรียม
- ข้าวสาร น้ำพริก ซอสปรุงรสที่ชอบ ผงปรุงรส (ผัดกระเพรา หรือผัดฉ่า) และอาหารแห้ง
- กระติกน้ำเพื่อเก็บอุณหภูมิ ปิ่นโตใส่อาหารสำหรับทำอาหารกลางวัน
- ผ้าขนหนูผืนใหญ่เผื่อเอาไว้บิดผ้าเปียก เวลาซักผ้าแล้วแห้งไม่ทัน
- ชุดว่ายน้ำ หรือกางเกงว่ายน้ำสำหรับแช่น้ำ
- ใบขับขี่ตัวจริง (เตรียมเผื่อไว้)
- อุปกรณ์-เสื้อกันหนาวจัดไปให้เต็มทั้ง หมวก ถุงมือ ถุงเท้า ผ้าพันคอ ผ้าปิดปาก แว่นตากันแดดหรือกันลม
- ยารักษาโรค วิตามินซี ยาอม ยาแก้เจ็บคอ และยาประจำตัว อากาศเปลี่ยนจะไม่สบายกันง่ายขึ้น
- ไฟฉาย
- ถุงผ้าใส่ของใน Supermarket
- ขาตั้งกล้องที่แข็งแรง
10. ของฝาก
- ผงโกโก้ และช็อกโกแลตรสต่างๆ
- อาหารเสริมยี่ห้อ NOW ผลิตใน USA ราคาไม่แพง มีทั้งบำรุงเล็บ ผม หน้า ผิว สมองเยอะแยะไปหมด
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์อร่อย เช่น เบียร์ วอดก้าท้องถิ่น
- อุปกรณ์ และเสื้อกันหนาวที่ขายทั่วประเทศ จะมี 2 ยี่ห้อ ที่เห็นบ่อยๆ คือแบรนด์ 66 และ Icewear มีของให้เลือกเยอะมาก มีทั้งแบบเสื้อกันหนาวกันลม กันฝน อุปกรณ์เดินป่า อุปกรณ์และเสื้อผ้าขน wool ราคาของสินค้าที่ Icewear จะถูกกว่ายี่ห้อ 66 ! ถ้าผ่านไปเมือง Vik จะมี Icewear Outlet ขนาดใหญ่ แวะไปจัดอุปกรณ์กันหนาวก่อนไปล่าแสงเหนือ
- Nescafe Dolce Gusto Capsule ที่ Netto ราคากล่องละไม่ถึง 200 บาท แถมมีรสชาติแปลกๆ ด้วย
- แม่เหล็ก พวงกุญแจ ตุ๊กตามีทั้งนกพัฟฟินน่ารักๆ และชาวไวกิ้ง
- ก่อนกลับก็จะมาจัดต่อที่ Duty Free ในสนามบิน KEF ราคาของไม่แพง !!! เช่น เสื้อแจ็กเกต Superdry ไซส์ใหญ่ XL,2XL ตัวละ 2,xxx บาท, เครื่องสำอางหมวยลิปสติก YSL VOLUPTÉ LIQUID COLOUR BALM ได้ในราคา 3,499 ISK ( 875 บาท) ที่ไทยขายแท่งละพันอัพ, ลำโพง Marshall ราคาไม่แพง
- ขอขอบคุณข้อมูลท่องเที่ยวจาก : ibreak2travel.com