Travel Checklist เดินทางต่างประเทศ ที่จะช่วยให้การเตรียมของเป็นเรื่องง่ายมาฝาก โดยจะแบ่งเป็น 5 กระเป๋าหลัก ดูตามนี้ได้เลยค่าาา
1. กระเป๋าของสำคัญ
– การตรวจสอบมาตรการการเดินทาง หรือ ข้อจำกัดของประเทศปลายทาง รัฐบาลแต่ละประเทศ จะมีมาตรการและข้อจำกัดที่แตกต่างกันไป และอาจจะจำกัดประเภทของวีซ่า ซึ่งขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศต้นทาง ดังนั้นจึงควรตรวจสอบข้อมูลจากสถานเอกอัครราชทูตของประเทศปลายทาง ซึ่งบางประเทศมีประจำการในประเทศไทย หรือเว็บไซต์ของสถานเอกอัครราชทูต หรือ สถานกงสุลใหญ่ไทยในประเทศปลายทาง โดยเอกสารส่วนใหญ่ที่หลาย ๆ ประเทศกำหนด้ไว้ใน Checklist เดินทางต่างประเทศ เพื่อเข้าประเทศนั้น ๆ
– หนังสือเดินทาง หรือ พาสปอร์ต (Passport) ออกโดยกระทรวงการต่างประเทศ หน่วยงานกองหนังสือเดินทางกระทรวงต่างประเทศ เป็นเอกสารสำคัญมาก เพราะใช้แสดงความเป็นตัวเรา และ บันทึกการเดินทางเข้าออกประเทศต่าง ๆ ปัจจุบันอายุพาสปอร์ต มีแบบ 5 ปี และ 10 ปี แนะนำให้ตรวจสอบก่อน เก็บกระเป๋าเดินทาง อย่างละเอียด ขอย้ำเลยว่า!! ห้ามลืมเช็กวันหมดอายุอย่างเด็ดขาด ก่อนที่จะทำวีซ่า และซื้อตั๋วเครื่องบิน โดยตามหลักสากลโลก นับวันและเดือนก่อนหมดอายุต้องไม่น้อยกว่า 6 เดือน จวบจนวันเดินทางกลับ ถึงอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศได้
– ตรวจสอบสายการบิน และ ออกตั๋วเครื่องบิน ที่จะใช้บริการเพื่อเดินทางไปต่างประเทศ
– เงินสดและบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต ก่อนออกเดินทาง เพื่อน ๆ ต้องตรวจสอบให้ดีก่อนว่า ประเทศปลายทางใช้เงินสดสกุลเงินอะไร แล้วเตรียมแลกไปก่อน วันเดินทางก็นำเงินสดสกุลนั้นพกติดตัวไปด้วย หากไม่เตรียมไป แล้วไปแลกที่ต่างประเทศ เพื่อน ๆ อาจจะได้อัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่คุ้มค่า แต่ก็ไม่ควรแลกเงินสดติดตัวไว้มากเกินไป ซึ่งอาจทำให้ ผ่าน ตม.หรือ ด่านตรวจคนเข้าเมืองยาก จนจะกลายเป็นผู้ต้องสงสัยไปได้ ดังนั้นควรเตรียมไว้แค่พอดีสำหรับเที่ยวจะดีกว่าค่ะ หากเพื่อน ๆ กลัวใช้จ่ายไม่พอ ก็ควรนำบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต ติดตัวไปด้วย เผื่อช้อปเพลิน จะได้มีบัตรไว้รูด
2. กระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์
– มือถือ หรือ สมาร์ทโฟน และการใช้อินเตอร์เน็ต เป็นปัจจัยที่ 5 ในยุคปัจจุบัน และสำคัญสำหรับคนเดินทาง เพราะมือถือเครื่องเดียวก็ช่วยได้ทั้งการถ่ายรูป ทำบันทึก แปลภาษา ดูแผนที่ หรือใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กอัปเดตข่าวสารเมื่ออยู่ต่างประเทศ และยังให้ความบันเทิงระหว่างการเดินทาง ทั้งการดูหนัง ฟังเพลง และอย่าลืมตรวจสอบการใช้สัญญาณอินเตอร์เน็ตในประเทศปลายทาง ไม่ว่าจะเป็น ซิมต่างประเทศ หรือ Pocket Wi-Fi ด้วยนะคะ
– พาวเวอร์แบงค์ สามารถนำขึ้นเครื่องได้ แต่ความจุและจำนวนที่พกพาต้องไม่เกินข้อกำหนด ตามมาตรฐานความปลอดภัยของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA)
– ที่แปลงหัวปลั๊ก แต่ละประเทศจะใช้ปลั๊กไฟที่แตกต่างกัน เพื่อน ๆ ควรเช็กข้อมูลประเทศปลายทางว่าใช้หัวปลั๊กแบบไหน หรือ เพื่อความอุ่นใจ ควรเตรียมปลั๊กไฟแบบ Universal ที่สามารถปรับใช้ได้หลายรูปแบบจะดีที่สุด เพราะถ้าไม่เตรียมไป จะไม่สามารถใช้ชาร์จอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ได้
3. กระเป๋าสุขภาพ ยาสามัญ และ ชุดปฐมพยาบาล
– ยาสามัญ เป็นยาที่ซื้อเองได้ตามร้านขายยาทั่วไป โดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ เพื่อใช้ในการรักษาอาการเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในช่วงเดินทางต่างประเทศ เช่น ยาแก้ปวด แก้ไข้ ยาดม ยาหม่อง ยาแก้ไอ แก้แพ้ ยาแก้ท้องเสีย แก้ท้องอืดจุกเสียด เกลือแร่ เป็นต้น สำหรับยาประจำตัวที่รักษาอาการป่วยเฉพาะ ควรเช็กกับทางสถานทูตก่อนว่าเป็นชนิดที่ผิดกฎหมายหรือไม่ เพื่อที่จะได้ปรึกษาแพทย์ประจำตัวใช้ยาชนิดอื่นทดแทนก่อนชั่วคราวค่ะ
– ชุดปฐมพยาบาล ชุดเล็ก ๆ ได้แก่ น้ำเกลือ สำลี พลาสเตอร์ปิดแผล ผ้าก๊อซ ควรมีติดกระเป๋าเดินทางไว้ เผื่อเดินทางไปสถานที่ต่าง ๆ อาจจะเกิดอุบัติเหตุ และยังไม่มีคลินิก หรือ โรงพยาบาลใกล้ ๆ การปฐมพยาบาลเบื้องต้นนั้น จะช่วยทุเลาอาการบาดเจ็บได้ค่ะ
4. กระเป๋าเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย
– รองเท้า ถือว่าเป็นส่วนสำคัญของนักเดินทางเลย ควรเตรียมรองเท้าผ้าใบ หรือ รองเท้าหุ้มส้น เพราะมีความทนทาน และแข็งแรงกว่ารองเท้าไม่หุ้มส้นที่อาจชำรุด และฉีกขาดได้ง่ายกว่าค่ะ รองเท้าหุ้มส้นจะช่วยให้เพื่อน ๆ เดินทางไม่มีสะดุด ถ้าหากเพื่อน ๆไปฤดูหิมะตก ควรนำรองเท้าบูทหุ้มส้นชนิดกันน้ำ และมีฐานรองเท้ายึดเกาะหิมะด้วย
– ร่มพับเล็ก ๆ และ ชุดกันฝน ควรจัดติดกระเป๋าเดินทางโหลดใต้ท้องเครื่องไปด้วย ไว้ใช้ป้องกันแสงแดด ฝนตก หรือ หิมะตกค่ะ